วันที่ 10 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนกันยายน 2567 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 อยู่ที่ระดับ 55.3 ต่ำสุดในรอบ 14 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากภาคธุรกิจไม่มีความเชื่อมั่นในสถานการณ์ปัจจุบัน และมีสัญญาณวิตกกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันค่อนข้างสูง กังวลสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ทั้งเรื่องการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว และการเกษตร ซึ่งผู้ประกอบการมองว่าสถานการณ์ต่าง ๆ แย่มากกว่าดีขึ้น
นอกจากนั้นยังมีการประเมินสถานการณ์อุทกภัย ปี 2567 จะส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ มูลค่าประมาณ 36,929 ล้านบาท โดย ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 27,434 ล้านบาท คิดเป็น 74.3% ของความเสียหายทั้งหมด และแยกความเสียหายใน 3 จังหวัดได้ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งหมด 36 จังหวัด มากที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย 6,412 ล้านบาท จังหวัดเชียงใหม่ 4,232 ล้านบาท และจังหวัดพะเยา 3,292 ล้านบาท
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เศรษฐกิจโดยรวม เดือนกันยายน เท่ากับ 51.2 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 52.9 โดยมีข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหา ได้แก่ การรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน การบริหารจัดการน้ำในช่วงไตรมาสที่ 4 เร่งดำเนินนโยบายต่าง ๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปลายปี มาตรการควบคุมตลาดขายสินค้าออนไลน์ และปริมาณของสินค้าจีนที่เข้ามามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อาจารย์วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เดือนกันยายน อยู่ที่ 55.3 ลดลงจากเดือนสิงหาคมที่ 56.5 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน 39.0 จากเดือนที่แล้ว 40.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต อยู่ที่ 63.1 ลดลงจากเดือนสิงหาคม 64.3 ดัชนีความเหมาะสมการซื้อรถยนต์คันใหม่ การซื้อบ้านใหม่ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว การลงทุนการทำธุรกิจ ทุกดัชนีมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่องทุกดัชนี