เปิดตัวชุดยูนิฟอร์มให้ผู้ที่มาร่วมประชุม APEC2022 สวมใส่ ฝีมือดีไซน์โดย นศ.คณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล ม.หอการค้าไทย
ในโอกาสที่ คณะทำงาน APEC CEO Summit 2022 ได้เปิดตัวชุดยูนิฟอร์มร่วมสมัย“ฮ่อมขวายบะต่อม” ที่ตัวแทน Young Entrepreneur Chamber of Commerce จะสวมใส่เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ไทยและส่งเสริมภาพลักษณ์ไทย เป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการถ่ายทอด Soft power หรือการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านสายตาชาวโลก ออกแบบโดยนักศึกษา คณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ถ่ายทอดความเป็นไทยผ่านการนำกลิ่นอายของผ้าฝ้ายที่งดงามและอ่อนช้อยของภาคเหนือ ผสานกับลวดลายช้าง อันนับเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และมีเรื่องราวของความเป็นไทยมากมาย เล่าเรียงร้อยอยู่ในเส้นสายของยูนิฟอร์มชุดนี้
อาจารย์ดิสพล จันศิริ คณบดีคณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล กล่าวว่า โครงการการออกแบบยูนิฟอร์มให้กับการประชุม APEC CEO Summit ที่ทำงานร่วมกับหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทย เปิดโอกาสให้ นศ.ปี 1 ออกแบบสร้างสรรค์ โดยนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้อาจารย์ทำงานร่วมกับนักศึกษาทำความเข้าใจการประชุมเอเปค การสร้างแพทเทิร์นเสื้อผ้า และการออกแบบให้เหมาะสมกับงาน สามารถสื่อความหมายได้ นับว่าเป็นความภาคภูมิใจของทางมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาได้สร้างสรรค์ดีไซน์ยูนิฟอร์มในแบบต่างๆ อย่างเต็มที่ และแน่นอนว่ายังเป็นการถ่ายทอด Soft power หรือการเผยแพร่ทางวัฒนธรรมไทยผ่านสายตาชาวโลกอีกทางหนึ่งด้วย
ด้าน ปวิชญา คล้ายอักษร นศ.ชั้นปีที่ 1 คณะศิลปะและการออกแบบดิจิทัล เผยแรงบันดาลใจออกแบบยูนิฟอร์มว่า เริ่มจากอยากให้ผู้สวมใส่รู้สึกผ่อนคลาย สบายตัว ผสมผสานกับความชื่นชอบภาคเหนือ เพราะมีวัฒนธรรมและธรรมชาติที่น่าสนใจ จึงนำเอกลักษณ์ของภาคเหนืออย่าง เสื้อม่อฮ่อมที่มีเนื้อผ้าใส่สบาย ไม่ร้อน โดดเด่นด้วยสีฟ้าครามดูแล้วมีความเรียบง่าย สามารถในงานประชุมทางการและนำมาประยุกต์ใส่ได้ทั้งชีวิตประจำวันได้ด้วย
“ ชุดยูนิฟอร์มฮ่อมขวายบะต่อม เป็นภาษาเหนือ ภาพรวมแปลว่า สบายไร้อุปสรรค การออกแบบคล้ายแพทเทิร์นของสูท ใส่ลูกเล่นให้ดูร่วมสมัยมากขึ้นด้วยการทำปกคอเสื้อ ชุดเหมาะกับทั้งชายและหญิง เพิ่มรายละเอียดด้วยการใช้กระดุม 3 เม็ด ซึ่งเป็นลักษณะการติดด้วยการเกี่ยวเข้าหากันเหมือนเสื้อม่อฮ่อมของทางภาคเหนือ” ปวิชญา เล่าที่มาของยูนิฟอร์ม
จุดเด่นของยูนิฟอร์ม ปวิชญา กล่าวเพิ่มว่า เป็นลวดลายช้าง เอกลักษณ์ที่สื่อความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี ชาวต่างชาติเห็นช้างจะนึกถึงประเทศไทย หากมองใกล้ๆจะมีรายละเอียดที่ใช้เทคนิคการออกแบ ดูเดิ้ลอาร์ท (Doodle Art) เป็นการเย็บที่เริ่มจากจุดเริ่มต้นไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดรูปร่างของเส้น แต่ยังคงอยู่ในโครงสร้างที่ตนได้วาดไว้ โดยใช้ด้ายสีขาวในส่วนของลากเส้น จากนั้นลงรายละเอียดสีน้ำเงินบนตัวของช้าง ลายเส้นนั้นเป็นไปอย่างอิสระจนได้แบบที่ต้องการ ช้างโดดเด่นอยู่บนเสื้อสีคราม เลือกใช้เทคนิคนี้มีความหมายสื่อถึงการรวมตัวการหรือการพบเจอกันของผู้คน เหมือนกับการประชุม APEC CEO Summit ที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจจากหลายประเทศจะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมที่ไทย
นับเป็นโอกาสที่ไทยจะได้ถ่ายทอดผลิตภัณฑ์จากทุนทางวัฒนธรรมของประเทศสู่สายตาผู้นำโลก
ขอขอบคุณที่มา จากเพจ https://www.thaipost.net/news-update/258688/