เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัวลงและฟื้นตัวช้า เพราะยังไม่เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนของรัฐบาลใหม่ ประกอบกับราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น และผู้บริโภคยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามในตะวันออกกลางและสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังคงยืดเยื้ออาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวล่าช้าของเศรษฐกิจไทย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า เผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ได้มีการสำรวจ เมื่อวันที่ 26-30 สิงหาคม 2567 จากจำนวนตัวอย่าง 369 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ลดลงจากเดิมมาอยู่ที่ 52.2 มาเป็น 50.5 ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในปัจจุบัน อยู่ที่ 47.7 และในอนาคต อยู่ที่ 53.2 โดยมีปัจจัยด้านลบ ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 5:4 ให้นายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงการยุบพรรคก้าวไกล และมีปัจจัยด้านบวกคือ มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย
อาจารย์วาทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.2 53.9 และ 65.6 ตามลำดับ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงจากระดับ 57.7 เป็น 56.5 เป็นการปรับตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือนนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 เป็นต้นมา