ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือนส.ค.65 ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 43.7 จากระดับ 42.4 ในเดือนก.ค.65
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ผศ.วชิร คูณทวีเทพ ผอ.สถาบันยุทธศาสตร์การค้า และ อาจารย์วทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือนสิงหาคม 2565 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 37.8, ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ อยู่ที่ 40.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 52.3
โดยมีปัจจัยบวก ที่ทำให้ดัชนี ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่
– ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ ยกเลิกระบบ Thailand Pass , ปรับระดับพื้นที่โควิดเป็นสีเขียวทั่วประเทศ และการผ่อนคลายเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยให้เป็นตามความสมัครใจ
– การฉีดวัคซีนป้องกันโควิดในทั่วโลกที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
– คณะรัฐมนตรี (ครม.)อนุมติมาตการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น คนละครึ่ง เฟส 5, โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้ถือบัตรคนจน เป็นต้น
– สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2.5% และทั้งปี 65 ยังเติบโตได้ 2.7-3.2%
– การส่งออกเดือนก.ค. ขยายตัวได้ 4.33%
– คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%
– ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยลบ ประกอบด้วย
– ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ค่าครองชีพและราคาสินค้าทรงตัวในระดับสูง ทำให้รายได้ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย
– ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นทั่วประเทศ
– ความกังวลต่อภาวะสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกให้มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนสินค้าให้ปรับเพิ่มขึ้นตาม และอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย
– ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่