ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจเผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายช่วงวันแม่ ปี 2565 (โพลวันแม่)
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจ “ทัศนคติและพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงวันแม่ ปี 2565” โพลวันแม่ ซึ่งดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 28 ก.ค.- 2 ส.ค.65 จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 1,288 คนทั่วประเทศ พบว่า วันแม่ปี 2565 นี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 10,883 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากปี 63 (ปี 64 ไม่ได้ทำการสำรวจ เนื่องจากมีสถานการณ์โควิด) โดยเม็ดเงินดังกล่าว แบ่งเป็นการใช้จ่ายในกิจกรรมต่างๆ 10,012 ล้านบาท และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 870 ล้านบาท เพิ่มขึ้นในรอบ 10 ปี
สำหรับพฤติกรรมและการวางแผนการใช้จ่ายในช่วงวันแม่ ส่วนใหญ่พบว่า จะพาแม่ไปทานข้าว 60.6% พาแม่ไปทำบุญ 47.9% ทำอาหารทานที่บ้านกับแม่ 14.6% และทำกิจกรรมร่วมกัน 14.2%
ส่วนของขวัญวันแม่ที่นิยมซื้อให้มากที่สุด คือ ให้เงินสดทอง 37.1% พวงมาลัยดอกไม้ 34.2% เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย 17.6% และพบว่าจะมีการวางแผนพาแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดมากขึ้น
ส่วนงบประมาณการใช้จ่ายในช่วงวันแม่คาดว่าเพิ่มขึ้น 40.2% เนื่องจากส่วนใหญ่คาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น และเป็นวันพิเศษ โดยมองว่าจะมีเงินสะพัด 10,883 ล้านบาท ขยายตัว 9% ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นหลังตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับฐานในปี 2563 ต่ำ หดตัว 28.0% และปี 2564 ไม่ได้มีการสำรวจ
เมื่อสอบถามว่า ปัจจุบันมีรายได้ เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือไม่ ผู้ตอบส่วนใหญ่ไม่เพียงพอ ร้อยละ 62.22 และอีก 37.8 บอกเพียงพอ และ สำหรับผู้บอกว่าไม่เพียงพอ สามารถแบ่งตามรายได้ ต่ำกว่า สองหมื่นบาท จะหาแหล่งเงินได้จากการขาย /จำนำสินทรัพย์ รายได้ หนึ่งหมื่น-สามหมื่น จะหาแหล่งจากบริษัทสินเชื่อ เช่น เงินติดล้อ และกลุ่มรายได้ มากกว่า สามหมื่นบาทขึ้นไป จะใช้แหล่งเงินกู้จาก ธนาคารเฉพาะกิจเช่น (กส ธอส ธ.ออมสิน)