แถลงข่าวผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน กุมภาพันธ์ 2564
เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 ณ อาคารสัญลักษณ์ (อาคาร 24) ชั้น 15 มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี ม.หอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยและ ประธานโครงการ Harbour.space@utcc และนายวิทิตร รักษ์ธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย แถลงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเดือน กุมภาพันธ์ 2564 ความเชื่อมั่นปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังจากการระบาดของโควิด 19 รอบ 2
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 43.4 จาก 41.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 46.1 จาก 45.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 58.7 จาก 56.8
ปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำนินมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ โครงการ”เราชนะ” “เรารักกัน” “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน”, การเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคคลายความกังวล, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศ, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เหลือ 2.5-3.5% จากเดิม 3.5-4.5%, ความกังวลเสถียรภาพทางการเมือง, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น, เงินบาทแข็งค่าทำให้มีความกังวลต่อความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทย และผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว