31 ปีก่อนเขาคือนายกองค์การนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมือง
30 ปีก่อนเขาคือผู้สื่อข่าวสายการเมืองประจำหนังสือพิมพ์หัวที่ตีพิมพ์ภาพข่าวการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ขณะที่สื่อโทรทัศน์ในประเทศถูกควบคุมการเสนอข่าว และไม่รายงานการสูญเสียชีวิตของประชาชน
20 ปีก่อนเขาคือคนที่เล็งเห็นพลังการเปลี่ยนแปลงของสื่อโลกใหม่ในยุคแรกเริ่มของอินเทอร์เน็ต และเตือนหนังสือพิมพ์ไทยให้เตรียมรับมือกับ New Media ทว่าไม่มีใครเชื่อ
‘เขา’ ที่ว่าจึงเป็นคนแรกที่เรานึกถึงในโมงยามที่ประเทศกำลังตั้งคำถามเรื่องจรรยาบรรณสื่อ การเสพสื่อ การอยู่ในยุคที่สื่อเก่าถูก Disrupt อย่างสิ้นเชิง ใครมีสมาร์ทโฟนก็สร้างข่าวได้ หรือพื้นที่สื่อที่ไม่ต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล จดทะเบียนเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงสมัครแอคเคานต์เว็บไซต์ไม่ก็แอปพลิเคชัน และมี IO, Fake News, Propaganda เป็นโรคแทรกซ้อน
‘เขา’ ที่ว่า คือ อาจารย์มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อีกหนึ่งนักวิชาการที่ถ้าใครจะพูดเรื่องสื่อต้องนึกถึง
“ได้ครับ” เป็นข้อความที่ได้รับแทบจะทันทีหลังตัวหนังสือ read ปรากฏ เมื่อเราส่งข้อความหาเพื่อชวนมานั่งคุยกัน
สองวันหลังจากนั้นซึ่งคือวันที่ 21 ตุลาคม เราจึงนั่งอยู่ในห้องทำงานเหนือตึกสูงใจกลางมหาวิทยาลัย ตรงหน้ารองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่กำลังไถ Smart Phone และมี Smart Watch คาดข้อมือ