IDE ม.หอการค้าผนึกกำลัง สอวช. เสริมศักยภาพเครือข่ายผู้ประกอบการขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนภาคเหนือ รุ่น2 เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจัดเวิร์คช็อปออนไลน์ โดย ผศ.ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการ IDE Center และ ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบซ ผู้อำนวยการหลักสูตร IDE ม.หอการค้าไทย ลงพื้นที่พัฒนากิจกรรมอบรมรากฐานความเข้ากรอบการพัฒนาระบบนิเวศทางการประกอบการ เพื่อความเข้าใจและการดูแลอย่างทั่วถึงในการเรียนรู้ร่วมกัน จากการลงพื้นที่พูดคุยกับตัวแทนเครือข่ายประกอบการที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนรุ่นที่ 2 (IDE Node 2) ในพื้นที่ 3 จังหวัด ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดพิษณุโลก ในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ IDE Node 2 ได้ผ่านการสัมมนาเชิงปฎิบัติการแบบออนไลน์สู่พัฒนานวัตกรรมชุมชนอย่างยั่งยืน ในช่วงอยู่ในสภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในโครงการพัฒนานโยบายเชิงทดลองเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนนวัตกรรม ระยะที่ 2 ภายหลังผ่านการอบรมสัมมนาเชิงปฎิบัติการแบบออนไลน์ (REAP FOUNDATION) ตามกรอบแนวทางของ MIT REAP เพื่อรายงานความก้าวหน้ารูปแบบการพัฒนานวัตกรรมชุมชน เภสัชกรหญิง วรรณศิริ นิ่มพิทักษ์พงศ์ กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการสายบริหาร โรงพยาบาลพิษณุเวช ตัวแทนเครือข่ายประกอบการที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนรุ่นที่ 2 จากจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า “ได้ข้อสรุปเบื้องต้นจากการพูดคุยว่า ด้วยลักษณะความพร้อมทางกายภาพในพื้นที่ ต้องการพัฒนานวัตกรรมชุมชนที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือในมิติต่างๆ เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานคอยดูแล หรือผู้สูงอายุที่มีความจำกัดด้านค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลในสถานเลี้ยงดู หรือแม้กระทั่งการช่วยค้นหาที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย ที่จะสามารถสร้างกิจกรรมให้ผู้สูงอายุในชุมชนเกิดการมีส่วนร่วม และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุเข้ารับบริการสถานพยาบาล”
ดร.ศุลีพร คำชมภู อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ตัวแทนเครือข่ายประกอบการที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนรุ่นที่ 2 จากจังหวัดพะเยา เปิดเผยว่า “ได้ข้อสรุปเบื้องต้นจากการแลกเปลี่ยนประเด็นการพัฒนากิจกรรมเพื่อสร้างระบบนิเวศทางการประกอบการในชุมชนว่า ต้องการจะสร้างระบบนิเวศให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว (Family Destination) เพื่อพัฒนาจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ของฝากในจังหวัดพะเยา ไม่ว่าจะเป็น เครื่องจักสานผักตบชวา ผ้าทอ ปลาส้ม หรือข้าวอินทรีย์ โดยนำเสนอผ่านเอกลักษณ์วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนพะเยา
จุดแรกที่เราจะเร่งพัฒนาเป็นอันดับแรก คือ ผ้าทอ เพราะผ้าทอเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีแห่งวัฒนธรรมในจังหวัดพะเยา และที่สำคัญฝีมือการทำผ้าทอในจังหวัดพะเยามีความเป็นเอกลักษณ์ โดยนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมาวางจำหน่ายในแบรนด์พะเยา และหากนักท่องเที่ยวที่เป็นกลุ่มครบครัวสนใจ เราก็จะพาไปพูดคุยกับผู้ประกอบการในหมู่บ้านซึ่งเป็นที่มาของวัตถุดิบ จากการพูดคุย IDE Center ถึงแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน โดยการออกแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging Design) เป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยใช้การสื่อสารแบบไม่เป็นทางการ เลือกการส่งภาพการออกแบบบรรจุภัณฑ์เป็นตัวอย่างที่ออกแบบไปในไลน์กลุ่มของผู้ประกอบการในชุมชน ส่งไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสำรวจความคิดเห็น และเปิดรับ Pre Order สินค้าดังกล่าวควบคู่กันไปด้วย เพื่อเก็บข้อมูลปรับปรุงข้อมูลให้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ผศ.ดร.ศักดิพล เจือศรีกุล ผู้อำนวยการ IDE Center มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า “จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ที่ภาคเหนือได้แลกเปลี่ยนวิธีการสร้างระบบนิเวศทางการประกอบการของผู้สูงอายุให้เป็นนวัตกรรมชุมชนที่ ‘ว้าว’ ได้โดยเริ่มต้นจากการไปสำรวจผู้คนที่คาดว่าจะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้สูงอายุ (Explore) ในชุมชนโดยรอบว่ากลุ่มเป้าหมายดังกล่าวกำลังเผชิญปัญหาใดอยู่ และลองพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมายว่าเขาต้องการความช่วยเหลือด้านใดบ้าง ส่วนนี้เองจะทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบนิเวศทางการประกอบการนวัตกรรมชุมชนผู้สูงอายุให้เกิดขึ้นจริงได้ ทั้งนี้ IDE Center ยังคงลงพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรายงานความก้าวหน้ากับตัวแทนเครือข่ายประกอบการที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมชุมชนรุ่นที่ 2 เพื่อต่อยอดไอเดียนวัตกรรมชุมชนที่ ‘ว้าว’ โดยเริ่มต้นจากการมองภาพใหญ่ คิดใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ค่อยๆ ลงมือทำ (Think Big Act Small) ได้ลองสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) และลองเปิดรับ Pre-order เพื่อมั่นพูดคุยกับผู้คนที่คาดว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมาย ถือได้ว่าเป็นการเก็บข้อมูล ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ และยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมชุมชนที่น่าสนใจ”