สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ไตรมาส 1 ปี 62 ว่า ดัชนีอยู่ที่ระดับ 51.5 ลดลงเล็กน้อยจาก 52.1 ในไตรมาส 4 ปี 61 โดยผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค มองว่าธุรกิจโมเดิร์นเทรดประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลให้กำลังซื้อยังไม่กลับมาเป็นปกติ ประกอบกับต้นทุนสินค้าอยู่ในระดับสูงและได้รับผลกระทบจากการเมืองที่ยังไม่นิ่ง รวมทั้งสถานการณ์ฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5, ภัยแล้งที่มาเร็วและมีความรุนแรง ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการจัดหาน้ำเพิ่มขึ้น, ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น, อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น, ราคาสินค้าเกษตรยังคงอยู่ในระดับไม่สูง ส่งผลต่อระดับรายได้ของครัวเรือน และภาระหนี้สินของครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นต้น ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ การเลือกตั้ง, นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง, เทศกาลปีใหม่ ตรุษจีน, นโยบายและมาตรการสวัสดิการของรัฐ เช่น บัตรคนจน ช็อปช่วยชาติ นโยบายลดภาษี เงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีข้อเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา คือ เร่งควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานไม่ให้สูงเกินไปและไม่ให้เกิดความผันผวนด้านราคาขาย, เร่งจัดตั้งรัฐบาลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และอยากให้รัฐบาลมุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน จะได้มีกระแสเงินไหลเข้ามาใช้จ่ายในส่วนของภาคประชาชนมากขึ้น “ปัจจุบัน ระบบการค้าของไทยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 5-6% โดยมีมูลค่ามากกว่า 2.7 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มโมเดิร์นเทรด เติบโตต่อปีที่ 7% หรือมีมูลค่ากว่า 1.8 ล้านล้านบาท ถือเป็นกลุ่มการค้าที่มีการเติบโตได้ดี”