เปิดใจหนึ่งตัวแทนทีมไม้เท้าอัจฉริยะสำหรับผู้พิการทางสายตา ประกวดแผนธุรกิจแคมป์ผู้ประกอบการเด็กหัวการค้า จนชนะใจกรรมการจนกว้ารางวัลชนะเลิศ น.ส.พรทิภา รักแดง (น้องน้ำ) นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนสุราษฏร์พิทยา จ.สุราษฎร์ หนึ่งในสมาชิกทีมชนะเลิศ “ไม้เท้าอัจฉริยะสำหรับผู้พิการทางด้านสายตา” คว้ารางวัล 1 แสนบาท ทุนการศึกษาเต็มจำนวน และพร้อมตั๋วเครื่องบินไปกลับและทริปทัศนศึกษายังประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่ารู้สึกดีใจมากที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะไม่ใช่เพียงรางวัลชนะเลิศเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้ ประสบการณ์มากมายจากรุ่นพี่ นักธุรกิจที่มาให้ความรู้ และเพื่อนจากโรงเรียนอื่นๆ เนื่องจากเข้าแคมป์ที่นี้ ต้องทำงานร่วมกับเพื่อนๆ ในทีมที่มาจากหลากหลายโรงเรียน ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ไอเดียหลากหลาย
น.ส.พรทิภา กล่าวต่อว่าทีมมีทั้งหมด 7 คน โดยไอเดียดังกล่าวเกิดจากมองว่าธุรกิจหรือสินค้า นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้พิการยังไม่มีทีมไหนสนใจทำ และกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้มีจำนวนมาก อีกทั้งเคยไปเจอสถานการณ์เห็นผู้พิการ ผู้สูงอายุใช้ไม้เท้าที่ไม่ค่อยแข็งแรง ใช้งานได้ไม่ดี จนทำให้เกิดการหกล้มเพราะไม้เท้าไม่ได้ช่วยอะไร ดังนั้น จึงมีไอเดียอยากผลิตไม้เท้าอัจฉริยะ ที่จะมีการติดตั้งเทคโนโลยีการนำทางแบบจีพีเอส หรือการนำบลูทูธ เข้ามาเชื่อมต่ออย่างโทรศัพท์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการทางสายตา ผู้งสูงอายุ จะได้ช่วยเหลือในการเดิน หรือการไปไหนมาไหนได้สะดวกมากขึ้น
“รู้จักแคมป์ดังกล่าวจากรุ่นพี่ ซึ่งส่วนตัวเป็นคนชอบขายของ อยากเป็นนักธุรกิจ ผู้ประกอบการมาก เมื่อทางวิทยาลัยผู้ประกอบการ ม.หอการค้าไทย เปิดแคมป์จึงไม่ลังเลที่จะสมัคร เพราะอยากมาเรียนรู้การทำธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการที่ดี เพราะถึงชอบการขายและตอนนี้มีการขายสินค้าทางออนไลน์ แต่เป็นการซื้อมาขายไป ไม่รู้ถึงการทำแผนธุรกิจ ขั้นตอนการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีหลากหลายมาก เป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ และชอบแคมป์นี้มากๆ ทำให้ได้รู้อะไรที่ไม่เคยรู้มาก่อน อยากให้ทางมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมแบบนีทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ที่สนใจและอยากเรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการได้มีเวทีเข้าร่วมและฝึกฝนทักษะ พัฒนาตนเอง” น.ส.พรทิภา กล่าว
“มกค” มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการร่วมปลูกฝังให้นักเรียนชั้นมัธยมปลายเป็นผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพต่อไปในอนาคต ส่งเสริมเศรษฐกิจไทย เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่จะต้องทำจริง เน้นกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวของนักเรียน โดยได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากศิษย์เก่าเด็กหัวการค้าที่ประสบความสำเร็จ และนักธุรกิจรุ่นใหม่
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ