
ศูนย์ศึกษาสื่อและการสื่อสารอาเซียน (AMSAR) ร่วมกับปริญญาโท สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลวิจัย “การวิเคราะห์รูปแบบการนำเสนอเนื้อหาเพจสะท้อนชีวิตคนทำงานออฟฟิศ” ของนางสาวชญานี โชติสุขรัตน์ โดยมี ผศ.ดร.สุทธนิภา ศรีไสย์ ผู้อำนวยการศูนย์ AMSAR เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัยชิ้นนี้เป็นงานวิจัยที่ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) เพื่อศึกษารูปแบบและเนื้อหาบนเพจสะท้อนชีวิตคนทำงานออฟฟิศที่ได้รับความนิยม 3 เพจ ได้แก่ เพจบรีฟเหี้ย เพจกว่าจะถึงออฟฟิศ และเพจชีวิตเอเจนซี่ ผู้ศึกษาได้ทำการวิเคราะห์เนื้อหาบนโพสต์เฟซบุ๊กชีวิตคนทำงานออฟฟิศรวม 153 โพสต์ โดยศึกษาเนื้อหาทุกชิ้นที่โพสต์ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 14 มิถุนายน 2563 เป็นเวลา 3 เดือน ศึกษา เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีข้อกำหนดพระราชกำหนดฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ฉบับที่ 1 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บริษัท บริษัทส่วนใหญ่ประกาศให้พนักงานออฟฟิศอยู่ทำงานที่บ้าน (Work From Home) หรือบางบริษัทมีการจำกัดเวลาการทำงานเป็นการปรับสถานการณ์ให้เข้ากับพรก.ฉุกเฉินฉบับที่ 1 ด้วยเวลาที่จำกัด ซึ่งเนื้อหาแต่ละโพสต์มียอดไลก์อยู่ที่ 2,6,9 – 11,217 ไลก์ ยอดแชร์ 50 – 8,000 แชร์ และยอดคอมเมนต์อยู่ที่ 50 ไปจนถึง 100 คอมเมนต์ ผลการศึกษาพบ

19 ประเภทของคอนเทนท์แทนใจคนทำงานออฟฟิศ
ผลการวิจัยพบ เนื้อหาบนเพจสะท้อนชีวิตคนทำงานออฟฟิศ สามารถแบ่งออกเป็น 19 ประเภทตามลำดับ ได้แก่ 1) เนื้อหาสร้างความบันเทิง 2) เนื้อหาประชดประชัน 3) เนื้อหาแทนการบ่น 4) เนื้อหาเกาะกระแสข่าว สดใหม่ ทันเหตุการณ์ 5) เนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า 6) เนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการของลูกค้า 7) เนื้อหาเรื่องกิน 8) เนื้อหาเรื่องปัญหาการเงิน 9) เนื้อหาการใช้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย 10) เนื้อหาเรื่องการหยุดงาน 11) เนื้อเพลง 12) เนื้อหาเลียนแบบคำพูดในละครหรือภาพยนตร์ 13) เนื้อหาเกี่ยวกับคนที่ทำงาน 14) เนื้อหาเรื่องการตื่นนอน 15) เนื้อหาบอกแนวทางการแก้ปัญหา 16) เนื้อหาการส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการ 17) เนื้อหาเรื่องการประชุม 18) เนื้อหาเรื่องสภาพอากาศ และ 19) เนื้อหาคำคม /ข้อความโดนใจ
เนื้อหาสร้างความบันเทิง คือ เนื้อหายอดฮิตบนเพจสะท้อนชีวิต
ผลการวิจัยพบว่า เนื้อหาสร้างความบันเทิง เป็นเนื้อหาที่มีจำนวนการโพสต์เป็นอันดับแรก คิดเป็น 66.01% ของเนื้อหาทั้งหมด และเป็นเนื้อหาที่ได้รับการปฏิสัมพันธ์อย่างมากจากคนทำงานออฟฟิศ โดยเนื้อหาประเภทนี้เป็นเนื้อหาที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่สนุกสนาน ความบันเทิง ตลก รวมถึงการนำความโศกเศร้ามาสร้างความบันเทิง และรอยยิ้มให้กับผู้บริโภคด้วยตัวอักษรและรูปภาพ ตามมาด้วย อันดับสอง คือ เนื้อหาประชดประชัน หมายถึง เนื้อหาที่มีการเสียดสี แดกดัน ที่มีความหมายั้งในเชิงลบและเชิงบวก อย่างไรก็ดี ผลการวิจัยพบว่า แม้จะเป็นเนื้อหาประชดประชันชีวิต แต่ก็ยังแฝงไว้ด้วยความบันเทิง (เหมือนหัวเราะแห้งด้วยความสะใจ)
การบ่นเปรียบเหมือนการได้ระบายอารมณ์ของคนทำงานออฟฟิศ
ผลการวิจัยพบว่า เนื้อหาแทนการบ่น เป็นเนื้อหาที่พบเป็นอันดับสาม เกือบครึ่งหนึ่งของเนื้อหาทั้งหมด (42.48%) รองจากเนื้อหาสร้างความบันเทิงและประชดประชัน เนื้อหาประเภทนี้เป็นเนื้อหาที่คนทำงานออฟฟิศบ่นออกมาเพื่อระบายความทุกข์ในใจ เมื่อเราต้องรับผิดชอบงานพร้อมกับเรื่องราวต่างๆในชีวิต เป็นการบ่นเอาสิ่งที่ไม่ดี หรือไม่ได้ดั่งใจออกมา ผลการวิจัยพบว่า เนื้อหาการบ่นนี้ประกอบไปด้วย การบ่น 3 เรื่อง คือ
- ลูกค้า เป็นเนื้อหาที่กล่าวออกมาเพื่อเป็นการระบายความทุกข์ใจที่เกี่ยวกับเรื่องของลูกค้าผู้ว่าจ้าง จะสังเกตได้ว่าเนื้อหาในลักษณะนี้จะถูกกล่าวออกมาจากพนักงานที่ได้รับมอบหมายงานหรือคำสั่งจากลูกค้า ซึ่งลูกค้าอาจมองไม่เห็นความเป็นไปได้ของเนื้องานเท่ากับพนักงานผู้ลงมือทำ ทำให้เกิดความไม่พอใจกับงานที่ลูกค้ามอบหมายให้และพนักงาน
- ความเหนื่อยล้าในการทำงาน เป็นเนื้อหาที่กล่าวออกมาเพื่อเป็นการระบายความทุกข์ใจเกี่ยวกับความเหนื่อยล้าในการทำงานในชีวิตประจำวันของคนทำงานออฟฟิศที่ต้องพบเจอกับเหตุการณ์มากมาย รวมถึงเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพซึ่งจัดอยู่ในเรื่องความเหนื่อยล้าในการทำงาน ในแต่ละเหตุการณ์อาจทำให้เกิดความทุกข์ใจ ไม่พอใจ
- เรื่องเจ้านาย หมายถึงเนื้อหาที่กล่าวออกมาเพื่อเป็นการระบายความทุกข์ใจที่เกี่ยวกับเรื่องของเจ้านาย หรือผู้บังคับบัญชา เนื้อหาในลักษณะนี้จะถูกกล่าวออกมาจากผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือลูกน้อง เป็นเรื่องของความคิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างเจ้านายกับลูกน้องที่คิดต่างกัน มองคนละมุมกัน จึงทำให้เกิดความทุกข์ใจ ความไม่สบายใจระหว่างกัน นอกจากนี้ยังพบเนื้อหาการระบายความในใจของคนทำงานออฟฟิศถึงความต้องการของลูกค้าเมื่อต้องทำงานร่วมกัน รวมถึงการเล่าเหตุการณ์หรือรายละเอียดงานที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้าที่มักไม่สมเหตุสมผล แต่ละคนที่มีความเชื่อและลักษณะการทำงานแตกต่างกันไป มุมมองในการทำงานต่างกัน จึงทำให้เกิดปัญหาการสื่อสารในการทำงาน ปัญหาเหล่านี้ล้วนแล้วเกิดจากการความต้องการของลูกค้าทั้งสิ้น
ปัญหาเรื่องเงินกับคนทำงานออฟฟิศ
ปัญหาการเงิน ตลอดจนการหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความเครียดในขณะทำงาน และอาจทำให้ลดประสิทธิภาพในการทำงาน ผลการวิจัยพบว่า เนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาการเงิน แบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คือ 1) เรื่องความสำคัญของเงินเดือน เป็นการเล่าถึงค่าตอบแทนในการทำงานของคนทำงานออฟฟิศ เป็นเนื้อหาที่เล่าถึงในช่วงต้นเดือนชีวิตจะอยู่อย่างสุขสบายเนื่องจากได้รับเงินในช่วงต้นเดือนได้ไม่นาน เมื่อถึงช่วงปลายเดือน วิถีชีวิตคนทำงานออฟฟิศกลับเปลี่ยนไป อยู่อย่างประหยัดมากขึ้นเพื่อให้ตนเองมีเงินใช้เพียงพอถึงวันที่เงินเดือนออก 2) เรื่องเงินไม่พอใช้ เป็นการเล่าถึงพฤติกรรมของคนทำงานออฟฟิศในการใช้เงินเป็นจำนวนมาก เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้เงินช่วงเงินเดือนออกอย่างบ้าคลั่ง การขาดวินัยในการใช้เงินของคนทำงานออฟฟิศ เป็นส่วนหนึ่งทำให้เงินหายไปอย่างรวดเร็ว และ 3) เรื่องการทวงเงิน หมายถึง เนื้อหาเกี่ยวกับคนทำงานออฟฟิศและลูกค้าผู้ว่าจ้างในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการจ้างงาน
การเล่าถึงคนที่ทำงาน-บรรยากาศในการทำงาน
เนื้อหาเกี่ยวกับคนในที่ทำงาน-บรรยากาศในการทำงาน เป็นการเล่าเรื่องราวของเกี่ยวกับผู้คนที่ทำงาน ไม่ใช่การบ่นถึง แต่เป็นเพียงการพูดถึง ผลการวิจัยพบว่า เนื้อหาที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคนที่ทำงานด้วยกันในออฟฟิศ เนื้อหาส่วนใหญ่มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่าน โดยบุคคลที่อยู่ในเรื่องเล่าที่พบ ได้แก่ เรื่องราวของเจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบ เนื้อหาเกี่ยวกับการประชุมของคนทำงานออฟฟิศ รวมทั้งการเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะประชุม การยกตัวอย่างบทสนทนาในที่ทำงานระหว่างคนหนึ่งสู่อีกคนหนึ่ง
เนื้อหาประเภทเพลง-ละคร-คำคม-ทันเหตุการณ์ สามารถเข้าถึงคนทำงานออฟฟิศ
ผลการวิจัยพบว่า เพจมีการนำเนื้อเพลงมาเล่าเรื่องโดยส่วนใหญ่ใช้ท่อนฮุคของเพลงมาเป็นเนื้อหาหลัก และส่วนใหญ่ใช้เพลงที่เป็นที่รู้จักในคนหมู่มาก เพื่อให้เข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีเนื้อหาเลียนแบบคำพูดในละครหรือภาพยนตร์ โดยการนำเอาประโยคที่ตัวละครพูดในละครหรือภาพยนตร์มาดัดแปลงให้เข้ากับเนื้อหา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นละครหรือภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง และถูกพูดถึงในคนหมู่มาก และยังนำเนื้อหาคำคม/ข้อความโดนใจ หรือ เนื้อหาที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกโดนใจ ประโยคกินใจ มาโพสต์ ซึ่งได้รับความนิยมจากคนทำงานออฟฟิศ โดยจะเห็นได้จากยอดไลก์และยอดแชร์จำนวนมากของแต่ละโพสต์
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบเนื้อหาเกาะกระแสข่าวสาร สดใหม่ ทันเหตุการณ์บนเพจ เป็นรนื้อหาที่เท่าทันเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงจากคนหมู่มากอยู่ในขณะนั้นๆ ซึ่งการใช้เนื้อหาในลักษณะนี้ผู้อ่านจะเกิดความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว
กิน-ตื่นนอน-สภาพอากาศ อุปสรรคของคนทำงานออฟฟิศ ในขณะที่โหยหาวันหยุด
ผลการวิจัยพบเนื้อหาบนเพจเล่าถึงพฤติกรรมการทานอาหารและเครื่องดื่มของคนทำงานออฟฟิศ อุปสรรคในการตื่นนอนเพื่อไปทำงาน การพูดถึงเรื่องความยากลำบากของการตื่นนอนเพื่อไปทำงานของคนทำงานออฟฟิศในแต่ละวัน เนื่องจากมีความรู้สึกว่าตนเองพักผ่อนไปมากเพียงใด ก็ยังไม่รู้สึกเพียงพอต่อการพักผ่อน สภาพอากาศปัญหาอันเป็นอุปสรรค์ในการทำงานของคนทำงานออฟฟิศ นอกจากนี้ยังพบเนื้อหาเล่าถึงวันหยุดของคนทำงานออฟฟิศ ยกตัวอย่างเช่น การลาป่วย ลากิจ หรือการลาพักร้อน เป็นเนื้อหาที่พูดถึงวันหยุดนักขัตฤกษ์ทำให้บริษัทต่างๆ หยุด ทำให้พนักงานออฟฟิศมีโอกาสได้พักผ่อนนอกเหนือจากวันเสาร์อาทิตย์ เป็นเนื้อหาที่พยายามสื่อถึงความรู้สึกของคนทำงานออฟฟิศที่ถูกปลอบประโลมความเหนื่อยล้าด้วยวันหยุดนักขัตฤกษ์
สื่อสารตราสินค้าบนเพจด้วยการบอกแนวทางการแก้ปัญหา-ให้ข้อมูลโปรโมชั่น-กระตุ้นให้ซื้อสินค้า
ผลการวิจัยพบว่า 1 ใน 5 ของเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการสื่อสารตราสินค้าบนเพจ โดยมีการสื่อสารผ่านเนื้อหาประเภท 1) บอกแนวทางการแก้ปัญหา (6.54 %) โดยผู้ผลิตเนื้อหาหรือเจ้าของตราสินค้า หรือบริการแนะนำวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า ซึ่งตัวลูกค้าสามารถนำไปปรับใช้จริงได้
ทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและแบ่งปันเนื้อหาไปในวงกว้าง อาทิ การทำวิดีโออธิบายถึงปัญหาของ
คนทำงานออฟฟิศในการใส่เสื้อเชิ้ตไปทำงาน สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนทำงานออฟฟิศได้ในทุกด้าน เป็นตัวอย่างเนื้อหาที่นำเสนอปัญหาและแก้ปัญหา โดยมีเนื้อหายาวและระบุลิ้งค์ (Link) เว็บไซต์เพื่อให้ผู้อ่านสามารถกดอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ 2) การให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการส่งเสริมการขายสินค้าและบริการ (8.50%) เป็นการชี้แจงรายละเอียดสินค้าหรือบริการที่ต้องการให้ผู้บริโภครับทราบถึงโปรโมชั่น (Promotion) ส่วนลดต่างๆ ที่ชักจูงความสนใจของผู้บริโภค โดยจะประกอบไปด้วยอัลบั้มรูปภาพหลายภาพ พร้อมทั้งแฮชแท็ก (Hashtag) ซึ่งเป็นชื่อของสินค้าหรือบริการที่ต้องการจะสื่อสาร อาทิ เมื่อวันที่มีงานยุ่ง จนไม่มีเวลาทานข้าว สินค้าหรือบริการ delivery จึงเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อพ้นความวุ่นวายในการทำงาน รวมถึงระบุว่ามีโปรโมชั่นใด และ 3) การส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการ (5.88%) เป็นการบอกรายละเอียดสินค้าหรือบริการ เพื่อเป็นการบอกลูกค้าเกี่ยวกับข้อมูลของสินค้า เนื้อหาที่ไม่ยาวมากนัก มีการใส่ลิ้งค์ (Link) มีการใส่แฮชแท็ก (Hashtag) ชื่อแคมเปญ ตราสินค้าหรือบริการ อาทิ เป็นภาพคนทำงานออฟฟิศทำงานไป เล่นเกมส์ไป เพื่อเป็นการบอกว่า เกมส์นี้สามารถเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา
22 ประเภทของรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาบนเพจสะท้อนชีวิตคนทำงานออฟฟิศ
ผลการวิจัยพบว่า เนื้อหาบนเพจมีรูปแบบการนำเสนอการนำเสนอเนื้อหา (Presentation) 8 ประเภทประกอบไปด้วย 1) ข้อความ (Text) 2) ภาพอีโปสเตอร์ (E-Poster) 3) ภาพวาดลายเส้น 4) แฮชแท็ก (Hashtag) 5) การให้เครดิตที่มา 6) อัลบั้มภาพ (Photo Album) 7) วิดีโอ (Video) และ 8. ลิ้งค์ (Link) นอกจากนี้ ยังพบกลยุทธ์การนำเสนอเนื้อหา 14 ประเภท โดย 5 อันดับที่ใช้ในการนำเสนอเนื้อหา คือ 1) การใช้สีเพื่อการจดจำ นำเสนอโดยใช้สีในรูปภาพ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ลักษณะเด่น ให้จดจำง่าย 2) การใช้ความอารมณ์ขัน (Humor) นำเสนอโดยใช้อารมณ์ความรู้สึกตลก ขบขัน เพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้อ่าน 3) การใช้ตัวหนังสือเล่าเรื่อง นำเสนอโดยใช้ตัวหนังสือเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง โดยตัวหนังสือจะมีขนาดใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อให้เห็นใจความของเรื่องอย่างชัดเจน 4) การนำเสนอกระแสนิยม นำเสนอโดยอาศัยกระแสนิยมของสังคมในช่วงเวลานั้นๆ หรือเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงในช่วงเวลานั้นๆ น าเอามาเป็นแกนหลักของรูปแบบ และ 5) การใช้ฉากในละครหรือภาพยนตร์ เป็นการหยิบยกฉากในละครหรือภาพยนตร์มาเป็นแกนหลักของเรื่องมาเชื่อมโยงกับคนทำงานออฟฟิศ ส่วนใหญ่มักใช้กับละครหรือภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง ถูกพูดถึงในคนหมู่มาก
แนะ 4 แนวทางออกแบบเนื้อหาบนเพจด้วยข้อความสั้น-ใช้รูปภาพ-ใช้สีสร้างความจดจำ และเน้นความบันเทิง
นางสาวชญานี ผู้วิจัย กล่าวว่า จากผลการวิจัยสามารถสรุปเป็นแนวทางในการออกแบบเนื้อหาบนเพจเพื่อสื่อสารกับคนทำงานออฟฟิศได้ ดังนี้
- การใช้ข้อความสั้นในการนำเสนอเนื้อหา ทำให้คอนเทนต์ย่อยง่าย เนื่องจากเฟซบุ๊กเป็นแพล็ตฟอร์มที่มีคนไทยเล่นจำนวนมาก ประกอบกับคนทำงานออฟฟิศมีเวลาจำกัด เพราะฉะนั้นการทำคอนเทนต์ ควรใช้ตัวอักษรไม่ควรใช้ข้อความที่ยาว ควรใช้คำที่สั้น กระชับ ได้ใจความ ซึ่งรูปแบบการนำเสนอแบบนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจมากกว่าการมีรูปภาพเพียงอย่างเดียว
- ภาพอินโฟกราฟฟิกดึงดูดผู้อ่านมากกว่าตัวหนังสือ จากการวิเคราะห์เนื้อหาบนเพจจะสังเกตได้ว่าทุกเพจมีการใช้รูปภาพประกอบตัวหนังสือที่สั้น กระชับ เพราะพวกเขารู้ใจผู้อ่านเป็นอย่างดีการดูรูปภาพและตัวหนังสือเพียงเล็กน้อย มักถูกดึงความสนใจจากผู้อ่านได้มากกว่า คอนเทนต์ที่มีตัวหนังสือจำนวนมาก
- การใช้สีทำให้ผู้อ่านจดจำเพจได้ เรื่องของการใช้สีก็สำคัญไม่แพ้กัน คนเราเลือกจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยมีสีเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งสีสามารถบอกถึงเอกลักษณ์ในแต่ละสินค้าและบริการได้ เพจก็เช่นกัน
- การเล่าเรื่องโดยใช้ความบันเทิง ผลวิเคราะห์เพจพบการนำเนื้อหาที่แฝงความสนุก ความตลกขบขัน และมีการจิกกัดแสบๆคันๆในเรื่องของการทำงาน ทั้งนี้จุดประสงค์ของงคอนเทนต์ในแต่ละโพสต์มักสร้างมาเพื่อความบันเทิง เนื่องจากผู้เสพคอนเทนต์ที่เป็นกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ ไม่ได้ต้องการเสพเนื้อหาที่ซับซ้อน ต้องการเนื้อหาที่ตรงใจ คล้ายกับชีวิตประจำวันของพวกเขาเท่านั้นเอง ดังนั้นแบรนด์อาจพิจารณาใช้ “ความบันเทิง” เป็นตัวดำเนินเรื่อง หรือเล่าเรื่องเล่า เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
เนื้อหาบนเพจสะท้อนชีวิตคนทำงานออฟฟิศในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19
นางสาวชญานี ผู้วิจัยกล่าวว่า จากการสังเกตเนื้อหาในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กับก่อนการแพร่ระบาด แทบไม่พบเนื้อหาที่แตกต่างกัน มีเพียงการหแทรกสถานการณ์ไปในเนื้อหาในบางอย่าง อาทิ เนื้อหาเกี่ยวกับการกิน อาจมีการสอดแทรกสถานการณ์ว่า เป็นช่วงที่มีวิกฤติไวรัสโควิด-19 จึงทำให้กิจกรรมนัดทานข้าวหลังเลิกงานน้อยลงเนื่องจากทุกคนต้องรักษาระยะห่างกันและกัน ไม่สามารถอยู่ใกล้ชิดหรือกินอาหารร่วมโต๊ะกันได้ หรือแทรกในเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ ว่า สภาพอากาศในเดือนที่มีฤดูร้อนเกิดขึ้นในช่วงภาวะวิกฤติโควิด-19 คนทำงานออฟฟิศทำงานอยู่ที่บ้านทำให้ส่งผลเสียต่อการทำงานของคนทำงานออฟฟิศ รวมถึงการต้องอดทนกับอากาศร้อน ทางเดียวที่จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในช่วงฤดูร้อนคือการเปิดแอร์ห้องเดียวในบ้าน และให้ทุกคนในครอบครัวมาอยู่รวมห้องเดียวกัน หรือ เนื้อหาประเภทเนื้อหาเกาะกระแสข่าวสาร สดใหม่ ทันเหตุการณ์ ที่พูดถึงเรื่องสัญญาณอินเตอร์เน็ตช้า ทำให้การประชุมออนไลน์ของคนทำงานออฟฟิศที่ทำงานที่บ้านสะดุด
โอกาสในการสื่อสารตราสินค้าและบริการผ่านเพจสะท้อนชีวิตคนทำงานออฟฟิศ
ข้อน่าสังเกตจากผลการวิจัยพบว่า ยังมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสื่อสารตราสินค้า หรือส่งเสริมการขายสินค้า/บริการ อยู่จำนวนน้อย ดังนั้น แบรนด์ หรือเจ้าของสินค้า อาจพิจารณาสื่อสารแบรนด์/สินค้า/บริการ ผ่านเพจได้ เนื่องจากมีผู้ติดตามจำนวนมาก และเป็นเพจที่อินไซต์คนทำงานออฟฟิศ ดังนั้น ผู้ผลิตเนื้อหาสามารถเปิดพื้นที่ให้ตราสินค้าหรือบริการเข้ามามีพื้นที่ในเพจสะท้อนชีวิตคนทำงานออฟฟิศเพิ่มมากขึ้น อาทิ เนื้อหาสร้างแรงบันดาลใจ เนื้อหาให้ไอเดียหรือสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ เนื้อหาเชิงให้คำแนะนำหรือบอกวิธีการใช้สินค้าหรือบริการ ตลอดจนการสื่อสารตราสินค้าที่ช่วยคนทำงานออฟฟิศแก้ปัญหาด้านการเงิน การตื่นนอน การกิน รวมถึงข่าวสาร ภาพยนตร์ เพลง ละคร ตราสินค้าที่สอดคล้องกับปัญหา Work Life Balance นอกจากนี้ เพจ/องค์กร/ตราสินค้าอาจพิจารณานำเสนอเนื้อหาที่จะช่วยแก้ปัญหา หรือช่วยสังคม อาทิ โครงการรณรงณ์ต่าง หรือการสื่อสารตราสินค้าผ่านโครงการรณรงค์ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ที่เกี่ยวข้องกับคนทำงานออฟฟิศ อาทิ รณรงค์ให้คนลดใช้พลังงาน รณรงค์ให้คนลดใช้กระดาษ
ผศ.ดร.สุทธนิภา กล่าวว่า “ผลการศึกษาพบโอกาสในการสื่อสารการตลาดผ่านเพจมากมาย เราพบ Pain points ของคนทำงานออฟฟิศ ทำไมคนออฟฟิศถึงมาตามไลก์ แชร์ คอมเมนต์เนื้อหาเหล่านี้ เพราะว่าเนื้อหาคือ ถูกใจ โดนใจพวกเขา ดังนั้น นักสื่อสารการตลาดสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปออกแบบการสื่อสารเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย โดยอาจเลือกประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเราไปเล่าเรื่องของเราเพื่อให้เขาจดจำตราสินค้าของเราได้ดียิ่งขึ้น อาทิ ตราสินค้าเกี่ยวกับอาหารการกิน ก็อาจสื่อสารกับผู้บริโภคว่า มาช่วยเขาตอบโจทย์การกินได้อย่างไร หรือการเงินการธนาคาร ก็สามารถเข้ามาสื่อสารเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเงินของผู้บริโภคได้ หรือแม้กระทั่งคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ แนะนำเขาได้ จะจัดการกับเจ้านาย/เพื่อนร่วมงานอย่างไร อย่างไรก็ดี ข้อพึงระวังในการนำเสนอเนื้อหาบนเพจคือ พยายามทำให้เนื้อหาตราสินค้าให้กลมกลืมกับเนื้อหาบนเพจ และไม่ยัดเยียด เนื้อหา ตลอดจนไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ากำลังถูกรบกวน”
“เป็นที่น่าสังเกตได้ว่า เพจที่ได้รับความนิยมจากคนทำงานออฟฟิศ จะเป็นเพจที่มีเนื้อหาที่เป็นตัวแทน เป็นปากเป็นเสียงของคนทำงานออฟฟิศ การมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาบนเพจนับรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการสื่อสารความรู้สึกของคนในสังคมไทย ในสภาวะที่อยากระบายแต่กลัวจะกระทบกับชีวิตและสังคมทำงาน ในสภาวะที่ฉันอยากระบายบรรยายความอัดอั้น ตันใจ แต่ทำไม่ได้อย่างเปิดเผย…การ “เข้าใจ” pain points ของผู้บริโภค จะทำให้ “เข้าถึง” ผู้บริโภคได้ และสามารถสื่อสารตราสินค้าให้ “กลมกลืน” กับวิถีชีวิตของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด” ผศ.ดร.สุทธนิภา กล่าวทิ้งท้าย