
ในฐานะภาคธุรกิจเอกชนของประเทศไทยประกอบด้วยหอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการจัดทำโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจการทำเกษตรรูปแบบใหม่ปลอดสารพิษและสร้างรายได้ให้กับชาวไร่ชาวนาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญยังมีเป้าหมายสร้างชาวนาอัจฉริยะนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา ทุกคณะผ่านโครงการเกษตรกรเด็กหัวการค้า ให้เรียนรู้ต้นแบบเกษตรที่ทันสมัยและประสบความสำเร็จ โดยใช้กระบวนการทำการเกษตรแบบผสมผสานให้กับนักศึกษาทายาทเกษตรกรจังหวัดต่างๆและนักศึกษาทุกคนที่สนใจได้นำไปทดลองปฏิบัติ โดยอาศัยเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นการทำการเกษตรที่ละเอียดอ่อน เริ่มตั้งแต่รู้จักดิน ปลูกข้าว ปลูกผัก เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ตลอดจนสอนค้าขายสินค้าในตลาดต่างๆ พร้อมเปิดตลาดขายสินค้าเกษตรอินทรีย์
นางสาวภานุมาศ สุขานนท์ คณะบัญชี สาขาบัญชี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “ที่บ้านอยู่อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ทำสวนส้ม มะม่วง มะละกอและเกษตรทั่วไปใช้สารเคมีมาตลอดไม่ได้ปลูกแบบปลอดสารพิษ ซึ่งพอได้ทราบว่ามหาวิทยาลัยมีโครงการนี้เกิดขึ้นก็เลยอยากที่จะมาเข้าร่วมและเรียนรู้วิธีการปลูกพืชแบบปลอดสารพิษ เพื่อนำไปใช้กับสวนที่บ้านของตัวเอง โดยสวนของที่บ้านแบ่งเนื้อที่ทำสวนส้มประมาณ 10 ไร่ ซึ่งตอนนี้สามารถที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตามฤดูกาล ส่วนพื้นที่ที่จัดปลูกสวนมะม่วงก็ประมาณ 10 ไร่ พึ่งเริ่มต้นปลูกไปเมื่อปีที่แล้ว ยังไม่รวมพื้นที่ในส่วนที่มีไว้ทำนา เมื่อได้เข้าโครงการนี้ประทับใจตั้งแต่ที่เริ่มเข้ามาเรียนรู้เพราะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน คุณครูให้ความรู้อย่างละเอียดการทำสรรพสิ่งแห้ง สรรพสิ่งน้ำ การทำน้ำหมักตลอดจนการปลูกผัก ถ้าเราไม่นำเมล็ดที่จะเพาะปลูกไปแช่น้ำก่อนแล้วนำไปโรยตามดินที่เตรียมไว้ จะพบว่ามีความแตกต่างกันออกไปอย่างไร ได้ทดลองใช้น้ำชนิดต่าง ๆ ในการรดต้นอ่อนเพื่อดูการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันออกไป จากการเข้ามาเรียนรู้ทำให้เราสามารถจำแนกได้ระดับหนึ่งเกี่ยวกับวิธีการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมีและสามารถนำไปปรับใช้กับสวนของเราได้เป็นอย่างดี”
นายอภิสิทธิ์ ไชยราษ คณะวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า “ที่บ้านผมมีการทำการเกษตรกันทั้งครอบครัวอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ บ้านมีการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง รวมถึงอาจจะมีการส่งขายตามตลาด แต่หลักๆที่ครอบครัวทำ คือการปลูกข้าวนาปี ข้าวที่ปลูกจะเป็นพันธุ์ข้าวจ้าว ข้าวเหนียว ข้าวหอมมะลิปกติ แต่ละปีจะใช้เนื้อที่ในการปลูก 20 งาน แต่ใน 20 ไร่ จะแบ่งออกเป็นปลูกข้าวจ้าว 16 งาน อีก 4 งาน ปลูกข้าวเหนียว ผมเข้าโครงการนี้และชื่นชอบมากสำหรับผมได้เรียนรู้การเตรียมวัตถุดิบในการหมักปุ๋ย โครงการนี้จะเรียกปุ๋ยว่า “สรรพสิ่ง” คือ การเอาสิ่งของที่มีเดิมอยู่แล้วตามธรรมชาติมาหมักรวมกันให้มันสามารถปรับสภาพหน้าดินได้ หลังจากนั้นจะเพิ่มพูนผลกำไรให้เราเมื่อเราเริ่มปลูกอะไรก็ได้ที่เราอยากจะปลูก ผมตั้งใจกลับไปเผยแพร่ให้ที่บ้าน ยกเลิกการใช้สารเคมีในการปลูกข้าว อยากให้ลองหันมาใช้สรรพสิ่งพวกนี้ที่เราเรียนมา สามารถหาได้จากตามธรรมชาติ ลองปรับเปลี่ยนใช้ตามฤดูกาล อาจจะยังไม่เริ่มทั้งหมดแต่อาจจะลองสัก 1 งาน ถ้าเห็นผลกำไรที่ดีก็จะค่อยๆ เปลี่ยนมาใช้สรรพสิ่งทั้งหมดเพราะมันส่งผลที่ดีต่อหน้าดินและธรรมชาติสิ่งแวดล้อมด้วยครับ”

