ผลสำรวจการใช้จ่ายเทศกาลลอยกระทง ประจำปี 2566 แตะ 1 หมื่นล้านบาท ในรอบ 8 ปี
ปีนี้ลอยกระทงคึกคัก และมีการใช้จ่ายแตะ 1 หมื่นล้านในรอบ 8 ปี
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย พร้อมด้วย อ.อุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชน ในช่วงเทศกาลลอยกระทงประจำปี 2566 จากการสำรวจประชาชนทั่วไป จำนวน 1,240 กลุ่มตัวอย่าง พบว่าเทศกาลลอยกระทงในปีนี้คึกคักมากสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2559 คาดมีเงินสะพัดแตะ 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3.3 % ประชาชนมองว่าบรรยากาศในวันลอยกระทงปีนี้จะคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา
จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มตัวอย่าง 41.7% จะออกไปลอยกระทง อีก 25.6% จะออกไปทำกิจกรรมอื่นๆ สำหรับกลุ่มที่ไปลอยกระทงส่วนใหญ่ 51.4% จะไปลอยในสถานที่ที่จัดงาน และ 32.2% ลอยกระทงออนไลน์ ส่วนการใช้จ่ายในวันลอยกระทง พบว่า ค่าใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 2,075.58 บาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 1,920.39 บาทต่อคน การใช้จ่ายส่วนใหญ่จะใช้สำหรับค่าเดินทาง รับประทานอาหารนอกบ้าน สังสรรค์ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่มีจำนวนมากขึ้น เหตุผลเพราะสินค้ามีราคาที่สูงขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้เงินสะพัดในช่วงลอยกระทงอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 8 ปี นับตั้งแต่ปี 2559
ทั้งนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ประเมินภาพรวมเศรฐกิจไทยในปีนี้ คาดขยายตัว 2.4-2.6% และปีหน้าจะอยู่ที่ 3-4% จากการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัว ราคาน้ำมันไม่ผันผวนมาก อัตราดอกเบี้ยไม่ปรับขึ้น สำหรับปัจจัยภายในประเทศคาดการส่งออกฟื้นตัว และช่วงกลางปีจะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต เหล่านี้เป็นปัจจัยหนุนทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้าฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของผลสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 94.4% อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะได้รับสิทธิ์ และคาดว่าจะลงทะเบียนรับสิทธิ์ 71.6% และเมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 77.3% เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่เหลือ 22.7% ไม่เห็นด้วยเนื่องจากไม่สะดวกในการกลับไปใช้ในพื้นที่ ยังไม่รู้ถึงแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ รู้สึกยุ่งยากในการใช้ กังวลข้อมูลรั่วไหล และกลังถูกมิจฉาชีพหลอก