คณะศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทยสร้างครูพันธุ์ใหม่กลับคืน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมมอบทุนการศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้จัดตั้งคณะการศึกษาปฐมวัย (School of Early Childhood Education) เพื่อเปิดสอนหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษาเรียนรู้การสอนตามแนวหลักสูตรไฮสโคป (High Scope) ผ่านการปฏิบัติจริงในโรงเรียนสาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถานศึกษาในเครือข่ายโครงการลดความเหลื่อมล้ำด้วยการศึกษาปฐมวัยที่มีคุณภาพ (ไรซ์ไทยแลนด์)
อีกทั้งยังมุ่งเน้นพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างบัณฑิตสาขาการศึกษาปฐมวัยที่มีประสิทธิภาพออกสู่ตลาดแรงงาน มหาวิทยาลัยมีการเรียนรู้แบบไฮสโคป ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า การจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปช่วยให้ผู้เรียนมีรายได้สูงกว่า การก่ออาชญากรรมและติดยาเสพติดน้อยกว่า
เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนในรูปแบบปกติ นอกจากนี้ยังสามารถสรุปผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ว่า หลักสูตรไฮสโคปให้ผลประโยชน์ถึง 7 เท่าของต้นทุน ที่สำคัญนักวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้นำเอาหลักสูตรไฮสโคปมาพัฒนาและทดลองใช้ในประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป
นายอัฟฟาน ยะโก๊ะ ชั้นปีที่1 คณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย เล่าว่า “ตนเองมีบ้านเกิดอยู่ที่อำเภอจะแนะ ตำบลผดุงมาตร จังหวัดนราธิวาส มีความฝันอยากเป็นครูสอนเด็กเล็ก ทุกมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างกัน ซึ่งผมได้รับทุนการศึกษาต่อคณะการศึกษาปฐมวัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะเน้นทางหลักสูตรไฮสโคปเป็นอย่างมาก
เพราะเป็นการเรียนการสอนผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้เรียนรู้ได้ดีกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียน เวลาอาจารย์สอนในห้องเรียนจะมีบรรยากาศที่หลากหลายๆ นักศึกษาสนุกสนานเพลิดเพลินในห้องเรียนและนอกห้องเรียน หลักสูตรไฮสโคปสามารถใช้ได้กับเด็กทุกวัย การเรียนรู้ผ่านการเล่นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้เด็กได้สร้างประสบการณ์สามารถเข้าใจในเนื้อหาเพิ่มมากขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนมีความแตกต่าง ทุกคนล้วนเจอปัญหาไม่เหมือนกัน
ซึ่งการนั่งเรียนธรรมดาคนที่ยังไม่ผ่านประสบการณ์นั้นเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ เลยจำเป็นมากที่ต้องสร้างประสบการณ์ให้เรียนรู้เพื่อที่จะได้เข้าใจมากขึ้น จากบ้านเกิด 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นจังหวัดที่การศึกษาค่อนข้างจะยังต้องการความช่วยเหลือกว่าจังหวัดอื่นๆ เช่น อุปกรณ์การเรียนการสอน สถานที่
อีกทั้ง ณ ตอนนี้โรงเรียนต่างๆใช้การสอนแบบออนไลน์ซึ่งผู้ปกครองหลายท่านไม่มีเงินพอที่จะอำนวยความสะดวกและความต้องการของเด็กนักเรียนได้ หากเรียนจบแล้วจะนำวิชาความรู้ที่ได้มาพัฒนาโรงเรียนศูนย์พัฒนาเด็กเล็กจังหวัดนราธิวาสให้ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน จะแก้ไขปัญหาและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นปัญหาอย่างตรงจุด ใช้หลักสูตรไฮสโคปและจัดแผนการสอนที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กมากขึ้น”
นางสาวอัสเร๊าะ สามะ ชั้นปีที่1 คณะการศึกษาปฐมวัย ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า “โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรียนตอนมัธยมศึกษาจะเป็นโรงเรียนที่อยู่ในกลุ่มหมู่บ้าน ซึ่งเนื้อหาความรู้ก็ไม่ได้ด้อยแต่ก็ไม่ได้พัฒนาอะไรมาก เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบของในแต่ละพื้นที่เช่นกัน
จึงส่งผลให้ไม่สามารถที่จะพัฒนาให้เหมือนกับโรงเรียนในกรุงเทพฯ บ้านเกิดเป็นคนอำเภอจะแนะ ตำบลผดุงมาตร จังหวัดนราธิวาส หลังจากจบชั้นมัธยมปลายได้รับทุนการศึกษาให้ศึกษาคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการเรียนมีการพานักศึกษาชั้นปีที่1 ลงพื้นที่เรียนรู้วิธีรูปแบบการสอนและให้เราลองสอนจริง ๆ เหมือนกับเป็นการหาประสบการณ์และเพิ่มประสบการณ์ หลักสูตรไฮสโคปเน้นให้เด็กลงมือทำให้สิทธิความเป็นอิสระในการเรียนรู้กับเด็ก ให้เด็กเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง เช่น เวลาเล่นเราก็ให้เขาเล่นได้ตามอิสระตามทีเขาให้ความสนใจ ซึ่งมันจะแตกต่างจากหลักสูตรปกติทั่วไปคือเน้นท่องจำ ถ้าหลักสูตรที่ท่องจำจะไม่มีความอิสระในตัวเด็ก ครูป้อนอะไรมาเด็กตอบรับ
แต่ถ้าเป็นหลักสูตรนี้ครูจะปล่อยให้เด็กได้รู้จักหาประสบการณ์ด้วยตนเอง ลงมือทำเองและเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ถ้าเราได้มีโอกาสที่จะลงมาสอนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราจะนำความรู้ได้รับมามาสอนเด็กเล็กที่บ้าน เพราะตอนนี้ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้นยังไม่มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เป็นหลักสูตรไฮสโคป มีความตั้งใจว่าจะนำความรู้ที่ดีตรงนี้มาพัฒนาในชุมชนและจังหวัดของตัวเองโดยจะเริ่มที่อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส”