คณะบริหารธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เปิดห้องปฎิบัติการเทรดหุ้น หนุนนักศึกษาเรียนรู้เต็มรูปแบบเข้าสู่ไทยแลนด์ 5.0
5 ตุลาคม 2565 : มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่ก่อตั้งโดยหอการค้าไทย เน้นการเรียนการสอนและการผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองต่อภาคธุรกิจมาเป็นเวลานานถึง 60 ปี โดยได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านบริหารธุรกิจ และการเป็น Practice University เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักศึกษาได้ใช้ทักษะและได้รับความรู้ประสบการณ์จริง ปัจจุบันคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีโครงการพัฒนาห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภายนอกห้องเรียนให้แก่นักศึกษา รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับการเป็น Practice University ล่าสุดได้ดำเนินการสร้างห้องเทรดหุ้น “BILLION QUARTER” ซึ่งประกอบด้วย Trading Room Multiple Learning Space และมี Financial Product Board โดยการเทรดหุ้นนี้จะมีนักศึกษาจำนวนมากในหลายคณะวิชาได้ใช้ฝึกปฏิบัติการ อาทิ คณะบริหารธุรกิจ คณะบัญชี คณะเศรษฐศาสตร์ รวมทั้งนักศึกษาจากหลักสูตรวิศวกรรมการเงิน ตลอดจนผู้ประกอบการทั้ง SMEs และองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาอบรมภายในมหาวิทยาลัย ก็จะได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากห้องดังกล่าว โดยนักศึกษาจะได้เรียนผ่านตลาดหุ้นจริง มีนักลงทุน/ผู้เชี่ยวชาญมาแชร์ประสบการณ์แก่นักศึกษา ตลอดจนมีฐานข้อมูลให้นักศึกษาในค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสบการณ์นอกห้องเรียนให้แก่นักศึกษาได้
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “โครงการเปิดห้องปฏิบัติการ “BILLION QUARTER” ครั้งนี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่1 Study Corner คือ มุมการค้นคว้า เรียนรู้ด้านการเงินการลงทุน มีหนังสือของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แนะนำหลักสูตร E-Learning ให้คำแนะนำด้านการวางแผนการเงินโดยนักวางแผนการเงินส่วนบุคคล , ส่วนที่ 2 Trading Arena คือ พื้นที่กิจกรรมส่งเสริมการซื้อขายหลักทรัพย์ จอแสดงผลการซื้อขายหลักทรัพย์ ถ่ายทอดสดกิจกรรมสำคัญ เช่น IPO กิจกรรมบรรยายพิเศษด้านการเงินและการลงทุนทั้ง Online และ On-Site , ส่วนที่ 3 คือ Fin Lab ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เพื่อเป็นนักลงทุนมืออาชีพ การอบรมแบบเข้มข้นจากวิทยากร การฝึกปฏิบัติด้วยตนเองและการเรียนรู้จากเพื่อน ๆ ที่สนใจการลงทุน สามารถนำความรู้ที่ได้จากห้องปฏิบัติการ ไปต่อยอดเป็นนักลงทุนที่มีคุณภาพและจริยธรรมของประเทศไทย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ขอขอบคุณบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด มหาชน และธนาคารกสิกรไทย ที่ให้การสนับสนุนการสร้างห้องปฏิบัติการ เทรดหุ้นเพื่อพัฒนาการศึกษา และเป็นประโยชน์ให้แก่ประชาชนที่สนใจการลงทุนต่อไป”
คุณสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ในนามของบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ขอขอบคุณที่ได้ให้บริษัทฯ ได้ร่วมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของชาติ นั่นคือ การสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือหนึ่งใน Ecosystem ของบริษัทฯ ที่เราได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในด้านการศึกษาของประเทศ การเปิดห้องปฏิบัติการ “BILLION QUARTER” ของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในครั้งนี้นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสร้างนักลงทุนรุ่นใหม่ ให้มีความรู้และความเข้าใจการซื้อขายหลักทรัพย์ ตราสารทางการเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ที่สามารถสร้างอิสรภาพการทำงานที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของนักศึกษารุ่นใหม่ โดยไม่เป็นภาระของใคร เพราะจะมีทั้งหลักประกันด้านความรู้ ด้านการเงินและการออมที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในอนาคต ตลอดจนสามารถนำพาตนเองและประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน”
คุณกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “การร่วมมือครั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการร่วมสร้างนักเทรดหุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัลรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศไทย และจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่มุ่งเป็นผู้นำทางธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการของประเทศไทยและเอเชีย ด้วยการสนับสนุนให้นักศึกษาปัจจุบันได้เรียนรู้ปฎิบัติจริง ร่วมสร้างนักรบเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่ยุคดิจิทัล ที่มีทักษะการลงทุน เทรดหุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยบนพื้นฐานที่เข้มแข็ง วางรางฐานให้กับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางตลาดหุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัลของเอเชียและระดับโลกต่อไปในอนาคต”
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ส่งมอบการเรียนการสอนเชิงประยุกต์จากงานวิจัยและประสบการณ์การปฏิบัติ เพื่อสร้างผู้นำธุรกิจที่มีความเป็นผู้ประกอบการและมีความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านบริหารธุรกิจจากงานวิจัยและบริการวิชาการด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยรวม