รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมด้วย อาจารย์วิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายของไทย หากลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจมีเงินทุนไหลออก ดังนั้น หลายคนจึงคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะลดดอกเบี้ยหลังเฟด หรือเป็นช่วงกลางปีนี้ (ในการประชุม กนง.รอบ มิ.ย.) โดย ม.หอการค้าไทย คาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในปีนี้ รวมแล้วลดประมาณ 0.25-0.50%
นอกจากนี้ มาตรการฟรีวีซ่าทั้งชั่วคราวและถาวร หากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 ล้านคนจะทำให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.56% และหากรัฐบาลเร่งรัดการส่งออก ทุก ๆ 10,000 ล้านบาทของเราได้จากการส่งออกสินค้าที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.60% ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทุก ๆ ร้อยละ 0.25 ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ปรับลดลงจะทำให้ GDPไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.12%
อาจารย์วิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 67 ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 2.6% (ลดลงจาก 3.2% ในการประมาณการครั้งก่อน) สำหรับการส่งออกสินค้าคาดว่าจะขยายตัว 2.8% (ลดลงจากเดิม 3.0%) ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 1 (ลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 2.0)
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสนั้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่า ในไตรมาสที่ 1 เศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มซบเซา เนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัว และความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 สำหรับไตรมาสที่ 2 เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 จะเริ่มต้นการเบิกจ่าย ส่วนไตรมาสที่ 3 ถึงไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567