โดย ผศ.ดร.บุญเลิศ จิตรมณีโรจน์ คณะบริหารธุรกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย ม.หอการค้าไทย งานวิจัยเรื่อง “Synergistic effects of CSR practices on firm value: Evidence from Asia Pacific emerging markets” หรือผลกระทบของบรรษัทบริบาลต่อมูลค่าบริษัทจดทะเบียนในตลาดเกิดใหม่เอเชียแปซิฟิก โดยผศ.ดร.บุญเลิศ จิตรมณีโรจน์ คณะบริหารธุรกิจสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รับรางวัล Best Paper on Corporate Finance จากงาน SEC Working Paper Forum 2018: Regulating by Market Forces โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ผศ.ดร.บุญเลิศ เล่าว่า งานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของบรรษัทบริบาลต่อมูลค่าบริษัทจดทะเบียนจำนวน 643 บริษัท ใน 9 ประเทศที่อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ อินโดนิเชีย มาเลเซีย อินเดีย และไทย ระหว่างปี 2010-2016 อ้างอิงจากข้อมูล ESG ของ ASSET ซึ่งเป็นฐานข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก “อันดับแรกต้องขอบคุณคณะผู้จัดงานฯ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยสำหรับรางวัลผลงานวิจัยด้านตลาดทุนที่ยอดเยี่ยม” จากผลการวิจัยทำให้ได้ข้อสรุปที่สำคัญ คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ย ESG เท่ากับ 56.62 ซึ่งมีค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนในเกาหลีใต้ (55.90) อินเดีย (54.77) อินโดนิเชีย (52.51) มาเลเซีย (51.55) ฟิลิปปินส์ (38.70) ไต้หวัน (35.75) ฮ่องกง (29.15) และจีน (27.06) แสดงว่าบริษัทจดทะเบียนของประเทศไทยมีระดับบรรษัทบริบาลสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เอเชียแปซิฟิก เมื่อพิจารณาแต่ละด้านของบรรษัทบริบาลพบว่า ประเทศไทยได้คะแนนด้านสังคม (68.59) สูงที่สุด รองลงมาคือด้านสิ่งแวดล้อม (52.37) และด้านการกำกับดูแลกิจการ (47.05) ตามลำดับ บริษัทที่ดำเนินกิจกรรมครบทั้ง 3 ด้านของบรรษัทบริบาลจะเกิดแรงเสริมซึ่งกันและกัน ระหว่างกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แรงเสริมจะไม่เกิดขึ้น ถ้าบริษัทไม่ดำเนินกิจกรรมให้ครบทุกด้าน “บ่อยครั้งที่เมื่อผู้บริหารขาดข้อมูลด้านบรรษัทบริบาล ผู้บริหารมักจะจัดสรรทรัพยากรไปยังแต่ละด้านของบรรษัทบริบาลในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน เรียกว่า การเงินเชิงพฤติกรรม (Behavioral Finance) และเรียกพฤติกรรมเช่นนี้ของผู้บริหารว่าการจัดสรรทรัพยากรอย่างง่าย (1/N Diversification Heuristic) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง” งานวิจัยพบว่า กิจกรรมด้านสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด (Critical Driver) รองลงมาคือ กิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม สุดท้ายคือการกำกับดูแลกิจการ งานวิจัยชิ้นนี้คาดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรธุรกิจทุกภาคส่วน SEC Working Papers Forum 2018 เป็นความร่วมมือของสถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอเชีย แปซิฟิก รีเสิร์ช เอ็กซ์เชนจ์ (Asia-Pacific Research Exchange: ARX) โดยสถาบัน ซีเอฟเอ (CFA Institute) และสมาคมซีเอฟเอ ไทยแลนด์ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวคิดนโยบายตลาดทุน รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและองคกรชั้นนำต่าง ๆ
Category: PR News
Share This Article