มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สถาบันการศึกษาชั้นนำด้านธุรกิจการค้าและอุตสาหกรรมบริการของประเทศไทย ได้เปิดโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาล ถึงระดับอนุบาล 3 โดยใช้หลักสูตรไฮสโคป (HighScope) ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ศาสตราจารย์ James J. Heckman จากมหาวิทยาลัยชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า การจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปช่วยให้ผู้เรียนมีรายได้สูงกว่า ก่ออาชญากรรมและติดยาเสพติดน้อยกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่เรียนในรูปแบบปกติ และสามารถสรุปผลในเชิงเศรษฐศาสตร์ได้ว่า หลักสูตรไฮสโคปให้ผลประโยชน์ถึง 7 เท่าของต้นทุน ที่สำคัญ นักวิจัยของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้นำเอาหลักสูตรไฮสโคปมาพัฒนาและทดลองใช้ในประเทศไทยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนมีความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคป
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ประธานโครงการไรซ์ไทยแลนด์ (RIECE Thailand) เปิดเผยว่า “โรงเรียนสาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไม่ใช่ Direct Instruction แต่คือ Direct Experiences ที่จะไม่เน้นสอนแบบท่องจำ แต่จะเน้นส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการ “ลงมือทำอย่างมีชีวิตชีวา” (active participatory) เปิดโอกาสให้เด็กเกิดกระบวนการ “ตัดสินใจ” (child initiative) ต่อยอดการคิดวิเคราะห์ พัฒนาทักษะรอบด้าน ภายใต้การสนับสนุนของคุณครูทุกคน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์ (STEAM) ผ่านกิจกรรมที่เด็กปฐมวัยได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ที่สำคัญ บรรยากาศของโรงเรียนและกระบวนการเรียนรู้แบบไฮสโคปจะส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา เติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพ มีความสุขจากการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพของตน”
“หลักสูตรไฮสโคป เน้นการพัฒนาเด็กโดยใช้กระบวนการ วางแผน-ลงมือทำ-ทบทวน (Plan-Do-Review) ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ตัดสินใจวางแผนเอง ซึ่งจะช่วยให้เด็กได้รู้จักกำหนดเป้าหมายที่แน่ชัด ทำงานอย่างเป็นระบบ ฝึกการตัดสินใจ และรู้จักอดทนรอคอย ส่วนในขั้นตอนการลงมือทำ เด็กจะได้ลงมือทำกิจกรรมผ่านสื่อ วัสดุอุปกรณ์ที่หลากหลายและเหมาะสมกับวัย ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามความคิดของเด็กเองอย่างกระตือรือร้น ได้เรียนรู้จากสถานการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดจนได้ใช้ความคิดในการลงมือปฏิบัติ และได้สะท้อนความคิดผ่านขั้นตอนการทบทวน โดยเด็กแต่ละคนจะได้มีโอกาสเล่าประสบการณ์ที่ได้ลงมือทำทุกๆ สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและการเป็นผู้นำ และทั้งหมดนี้จะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ได้เต็มศักยภาพของแต่ละคน ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของหลักสูตรไฮสโคป
ในส่วนของการสร้างทักษะด้านวิชาการ เด็กที่เรียนในหลักสูตรไฮสโคปจะได้พัฒนาทักษะนี้ผ่านกิจกรรมกลุ่มย่อย (small group time) โดยมีเด็กเข้าร่วมกิจกรรมครั้งละ 4-5 คน ซึ่งจะช่วยให้เด็กแต่ละคนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างแท้จริง ทำให้สามารถพัฒนาทักษะด้าน STEAM ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนสาธิตฯ จะใช้การประเมินพัฒนาการผ่านเครื่องมือการประเมินของไฮสโคปที่เรียกว่า Child Observation Record (COR) ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงพัฒนาการของเด็กแต่ละคนในแต่ละด้านได้เป็นอย่างดี และนำไปสู่การออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กต่อไป นอกจากนี้ เด็กจะได้เรียนรู้แบบไฮสโคปโดยใช้ภาษาอังกฤษจากครูเจ้าของภาษา สัปดาห์ละ 1 วัน ในห้องเรียนไฮสโคปที่เหมาะต่อการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยเฉพาะ โดยทั้งหมดนี้เราจะดำเนินงานภายใต้นโยบาย “เรียนแบบนานาชาติ ด้วยราคาแบบไทยๆ” รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชาติ กล่าวเสริม
รองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “โรงเรียนสาธิตปฐมวัยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบไฮสโคปทุกห้อง ตั้งแต่เตรียมอนุบาลไปจนถึงอนุบาล 3 โดยเราจะรับนักเรียนชั้นละไม่เกิน 25 คน ตั้งแต่ปีแรกเพื่อสร้างมาตรฐานให้เด็กไม่ล้นห้องและทำให้เราสามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง โดยสุดท้ายแล้วเด็กของเราตลอด 4 ชั้นปีจะมีจำนวน 100 คนซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่เราต้องการและเหมาะสม เพราะจะได้จำนวนนักเรียนในแต่ละชั้นปีที่เหมาะสมกับจำนวนครูที่คอยดูแล เราจะไม่ใช้ระบบครูพี่เลี้ยงเข้ามาช่วย แต่เราจะใช้ครูปฐมวัยจริงๆ เข้ามาดูแลทุกห้อง ครูทุกคนจะได้รับการอบรมในสถานที่จริงอย่างเข้มข้นก่อนจะเริ่มสอนจริง จึงทำให้มั่นใจได้ว่าจะมีความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้แบบไฮสโคปเท่าเทียมกัน ซึ่งจะทำให้ห้องเรียนมีความพร้อมและสามารถพัฒนาเด็กทุกคนได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านี้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพราะต้นไม้ใหญ่ที่ทรงคุณค่าย่อมเกิดขึ้นได้จากเมล็ดพันธุ์ชั้นดี การสร้างอนาคตของประเทศจึงต้องเริ่มต้นจากระบบการศึกษาที่ดี สร้างและบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ของชาติตั้งแต่วัยเริ่มแรกแห่งการเรียนรู้ เพื่อการเติบโตสู่การเป็นคนคุณภาพของประเทศไทยในอนาคต”